วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ดูงานภูเก็ต (ผจญภัยคนเดียว 1 วัน)

     เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผมได้ไปทัศนศึกษาดูงานกับเพื่อนครูที่ต่างจังหวัด จริงๆแล้วน่าจะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ย้ายมาโรงเรียนนี้ด้วยซ้ำไป เพราะตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาผมหมกมุ่นอยู่กับการทำวงดนตรีของโรงเรียนมาโดยตลอด ซึ่งในที่สุดแนวทางอุดมการณ์ในการทำวงดนตรีเพื่อให้เด็กมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ หรือ พูดง่ายๆว่าเป็นคนดีนั่นแหละ ถูกสรุปว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" เพราะไม่มีถ้วยรางวัลเลยแม้แต่ถ้วยเดียว แต่ผมก็ไม่เคยใส่ใจเพราะคิดว่า สิ่งที่เราทำให้เด็กจนทำให้เด็กสามารถไปศึกษาต่อได้ตามความต้องการได้โดยมีความสามารถพิเศษเป็นเครื่องช่วยเหลือ เช่น การที่เด็กสามารถสอบเข้าเตรียมอุดมได้โดยใช้ความสามารถพิเศษดนตรีนั้น ผมถือเป็นความสำเร็จ แต่กลับเป็นความไม่เอาไหนที่ปล่อยเด็กที่มีความสามารถไปให้โรงเรียนอื่นในสายตาของคนอื่น เมื่อไม่ประสบความสำเร็จ(ในสายตาผู้ใหญ่)ผมก็เลิกทำ แรกๆก็เป็นทุกข์ใจ รู้สึกเหมือนชีวิตขาดสิ่งสำคัญอะไรไป แต่พอเวลาผ่านไป แม้ผมจะควันหลงกับความคิดเก่าๆอยู่บ้างจนถึงทุกวันนี้ แต่หลายๆอย่างทำให้ผมเริ่มคุ้นและรู้สึกว่า การไม่ต้องทำวงดนตรีให้โรงเรียนเนี่ย เป็นความสุขแสนประเสริฐ จนหากมีใครมาให้ผมไปทำวงตอนนี้ จ้างเดือนละหมื่นห้า ยังขอคิดดูก่อนเลย เพราะตั้งแต่ผมเลิกทำวง ผมเงินเหลือ ได้เที่ยว เย็นมาไปเดินเล่นห้าง เดินตลาด กินของอร่อยจนน้ำหนักขึ้น 4 กิโลฯ ภายในเทอมเดียว เงินเหลือจนเปลี่ยนรถได้ ซื้อกล้องตัวละห้าหมื่นมาถ่ายรูปขาย พอมีกล้องก็อยากไปถ่ายรูปที่นั่นที่นี่ มีเพื่อนครูต่างโรงเรียนหลายๆคนที่ชื่นชอบการถ่ายรูปเป็นเพื่อนคุย ขอบอกว่าสนุกละกัน สุดท้ายผมก็ได้ไปภูเก็ต ที่ซึ่งเคยฝันว่าจะหาเวลาไป ก็ได้ไปล่ะทีนี้
     เริ่มเดินทางวันที่ 13 พ.ค.55 ตอนเช้า (จริงๆ เพื่อนเขาเดินทางกันตั้งแต่ 4 โมงเย็นวันที่ 12 แล้ว) ด้วยผมติดธุระ ประกอบกับผม"กลัวการนั่งรถไกลๆ" ผมจึงบ่ายเบี่ยงไปเครื่องบิน(ตามฟอร์ม) ใช้สิทธิ์ครอบครัวพนักงานเจ้าหางม่วงจองตั๋ว 25% ไปกลับ เบ็ดเสร็จ 2 พันเศษๆ ได้นั่ง C seat ด้วย แถมพอไปดูเครื่องที่บินไปภูเก็ต โอ้โฮ้เหะ!...มีแต่แรงๆ 777 งี้ ...747 งี้...มี 330 ด้วย เอาละวะ...ไม่เคยนั่ง 330 ซักทีขอลอง... ปรากฎว่า ขาไปด้วยจำกัดเวลาที่ต้องไปดักเพื่อนๆที่ภูเก็ต เลยต้องไปเที่ยวเช้า มีแต่ 747-400 ...เอาก็เอา ไม่ได้เจอกันนาน Upgrade รึยัง...ยัง! เหมือนเดิมเลย...ขึ้นไปได้ที่นั่งเด็ด ติดประตู!(ประตูอยู่ข้างหน้า) โล่งเชียว..เสียวน่ะ..ไม่มีอะไรอยู่ตรงหน้ามันรู้สึกแปลก นั่งไปก็หลุกหลิกๆ ถ่ายรูปไปด้วย ทำอย่างกับคนไม่เคยนั่งเครื่องบิน แต่จริงๆคือ ไม่เคยนั่งเครื่องบินแล้วถ่ายรูป...เกรงใจพนักงาน เพราะอย่างที่รู้กัน เรื่อง(อ้าง)ความปลอดภัยของการท่าฯ ถ่ายรูปตรงนั้นก็ไม่ได้ตรงนี้ก็ไม่ได้ แต่ถ่ายคนเป็นที่ระลึก(ก่อนจาก)ถ่ายได้ทุกที่แฮะ อยู่หน้า Gate ยกกล้องถ่ายรูปเครื่องบิน แป๊ปเดียว ยามเดินมาล่ะ "ห้ามถ่ายภาพนะครับ" แล้วคุณ 2-3 คน เกาะกระจกแอ๊คท่าถ่ายเครื่องบินเป็น Background ถ่ายได้เว้ย..งง แล้วตูมาคนเดียวจะทำยังไง ก็เลยหลอนๆ กล้าๆกลัวๆเวลาจะถ่ายภาพในสนามบิน...กลัวโดนยึดกล้อง!
     747-400 ใช้เวลา 1 ชม. 10 นาที เพราะหนัก กว่าจะเลี้ยว กว่าจะวน เลยใช้เวลานานกว่า Fleet เล็กๆ นิดหน่อย ผมได้ย้ายที่นั่งตามคำแนะนำของลูกเรือว่า ชอบถ่ายรูป(เหมือนผม)ต้องนั่งขวา เพราะตอนเข้าภูเก็ตจะเห็นเกาะมากมาย ก็เลยได้ย้ายที่นั่งไปนั่ง First Class ซะเลย (เห็นม๊ะ...กล้องสร้างเพื่อน เพิ่มโอกาสให้ผมอีกแล้ว) แต่เสียดาย เมฆขมุกขมัวตลอดเส้นทาง มองเห็นไกล visible 9999 แต่ถ่ายรูปไม่ชัดเลย แสงฟุ้งเพราะสะท้อนเมฆ ยิ่งตอน Final (ระยะสุดท้ายก่อนถึงสนามบิน) เครื่องบินอยู่ในระดับต่ำกว่า 2000 ฟุตแล้ว เมฆก็ยังมีกวนใจตลอดจนถ่ายรูปออกมาฟุ้งทั้งหมด แย่จัง
     ถึงภูเก็ตผมไม่รอช้า รีปติดต่อเพื่อนครูทันทีว่าอยู่ตรงไหนกัน ได้คำตอบว่า อยู่ถลาง ผมศึกษามาแล้วว่านั่ง Airport Bus ไปได้ ผ่านพอดี แต่เจ้ากรรม กว่ารถจะออก(1ชม.30นาที) ไม่ตรงเวลาอีกต่างหาก เพื่อนๆก็เคลื่อนตัวออกจากถลางไปแล้ว แล้วไปร้านอาหาร ผมรู้ทันทีเลยว่าความซวยมาเยือนแล้ว ไปวัด ไปชายหาด ไปโรงแรม ก็พอถามได้เพราะมันจะเป็นความรู้ของคนรถ คนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่นี่ร้านอาหาร..."ลมทะเล" ถามใครก็ได้คำถามกลับมา อยู่ตรงไหน...เวรกรรม ผมก็ไม่รู้ เพื่อนครูก็ไม่รู้ เอาละสิ...ผมตัดสินใจนั่งรถสุดสายเข้าเมืองเลย กะไปแก้ปัญหาตรงนั้น รอให้เขาไปอีกที่นึงแล้วค่อยตามไป ค่ารถ 95 บาท ถึงขนส่ง(เ่ก่า) ไม่รู้ทำอะไร ซื้อถ่านต่อ GPS เพราะถ่านเก่ามันเกเร ดับตั้งแต่ยังไม่เปิดเลย แบต Android มันก็เริ่มไม่จำไฟซะแล้ว Search ดูร้านอาหารที่ว่า อยู่แถวๆสวนสัตว์ แกล้งถามวินมอเตอร์ไซด์ว่า จะไปเที่ยวสวนสัตว์ไปยังไงได้บ้าง คำตอบคือ เหมารถอย่างเดียว ราคาอยู่ที่ 300 - 400 บาท ระยะประมาณ 20 กิโล!!! นี่ไง ความน่าเบื่อของภูเก็ต ไข่มุกอันดามัน แหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ทั้งจังหวัดมีรถประจำทาง 4 สาย วิ่งวนอยู่แต่ในเมือง ไม่มีสายไหนเลยไปถึงแหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญ อ่าวต่างๆ จะไปต้องว่ารถเหมาอย่างเดียว ราคาก็สุดโหด ที่สำคัญคือ ใครเป็นใครก็ไม่รู้ รถเถื่อนไม่เถื่อนแยกไม่ออก ต่างคนต่างกลัว ทั้งคนขับทั้งผู้โดยสาร...ผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนครูว่า เป้าหมายต่อไปคือวัดฉลอง คงถึงประมาณบ่ายโมง ซึ่งดูนาฬิกาแล้วผมมีเวลาประมาณ 2 ชม.เศษๆที่จะหาวิธีไป ผมตัดสินใจลองเดินสำรวจหารถประจำทาง ไปเจอป้าย(ฟ้อง)ว่า ไม่มีรถประจำทางสายไหนไปถึงวัดฉลอง ผมเดินหารถจะว่าเหมาไปวัดฉลองด้วยความจำใจ(แล้วนี่) ขืนชักช้าจะคลาดกับเพื่อนๆอีก ได้รถตู้คันหนึ่งคนขับเดินมาทักผมตอนที่กำลังลังเลใจว่าจะกินข้าวหมูกรอบฝั่งนี้ หรือจะกิน MC ฝั่งตรงข้ามดี เดินเข้ามาถาม ผมก็เริ่มต่อเลย จริงๆก็ยังไม่ได้ตั้งใจว่าจะไป ก็เลยไม่ค่อยแคร์ บอกไปวัดฉลอง พี่แกฟันทันที 500 ผมก็ตอบทันที Nooooo ผมจ่อเลยไม่เกรงใจว่า "เคยไป 300 เอง" คนขัยสวนทันควันไม่ต้องคิดเลย 400 อะ ถ้าไปกลับด้วย 650 ...ผมยืนยัน 300 ไม่มองหน้าทำท่าจะเดินหนี(เข้า Mc) ปรากฎว่าพี่แก OK ผมเลยไม่กินข้าวเลย กลัวพี่แกจะเปลี่ยนใจขึ้นราคา พอไปถึงรถแกให้ผมไปรอในรถ ส่วนพี่แกไปเรียกเมียมานั่งไปด้วย..ผมว่าแล้ว แกก็กลัวผมเหมือนกัน...ผมก็กลัว...ทำไม่จังหวัดถึงไม่ทำเรื่องการเดินทางให้เป็นระบบซะที(วะ)
     ไปถึงวัดฉลอง ผมเริ่มเดินถ่ายรูปทันที แดดแร๊งงงง คนเยอะพอควร จุดประทัดตลอด ที่วัดนี้เขาไม่จัดประทัดกันเกลื่อนกลาดนะครับ มีปล่องคล้ายเตาเผาสูงๆ ไว้จุดประทัดข้างใน มีเจ้าหน้าที่คอยบริการด้วย  ซักพักรถบัสเพื่อนๆก็มาถึง ผมงี้ดีใจเลยหลังจากแกร่วอยู่คนเดียวนาน พอเพื่อนๆลงรถมาผมล่ะ โอ้ววว...ม.2 นี่ยกสายกันมาเลย หลายคนก็นางแบบทั้งนั้น แช๊ะ ๆ ๆ ...ผมใส่แหลก เพื่อนก็เรียกให้ถ่ายรูป ด้วยเพราะมีเสียงเพื่อนครูด้วยกันบอกว่า กล้องผมถ่ายรูปออกมาสวย...เห็นม๊ะ..เครดิตกล้องอีกละ...กล้องแพงก็เงี้ย...แต่ความลับคือ ผมถ่ายรูปด้วยไฟล์ RAW ตลอด แล้วก็แต่งทุกภาพครับ ใช้เวลาเป็นวันๆ แต่ก็มีความสุขดีกับการที่ทำให้คนในรูปออกมาดูดี ตัวแบบก็พอใจ ผมก็มีความสุข 555+
     หลังจากออกจากวัดฉลองราวๆ 4 โมงเย็น เป้าหมาย(ในกระดาษ) บอกว่า "ชมพระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ"...ฮูยส์... เนี่ยแหละเป้าหมายที่สองของการมาภูเก็ตของผม  ถ่ายรูปพระอาทิตย์ตกทะเล แถมเป็นพื้นที่ดังซะด้วย...เอาละวะ งานนี้ของซักร้อยสองร้อยภาพก็พอกันพลาด...มีการแวะพักที่หากราไวย์ รถไปจอดตรงสะพานปลา(มั๊ง) เป็นบริเวณที่โดนซึนามิถล่มแต่ไม่จัง แล้วทำใหม่บางที่ยังไม่เสร็จเลย พากันเดินลงไปถ่ายรูป สนุกสนาน เริ่มมีคนเรียกผมมากขึ้นกว่าตอนอยู่วัดฉลอง (เพราะผมเลิกทำตัวแปลกๆ) แถมรอบนี้มีกล้องหลายตัว ทั้งหมดเป็น Canon (TT) จุดนี้ผมได้วางกล้องมุมเดียวกับ 7D ขอครูวอฯ หลายมุม เริ่มรู้แล้วว่า สงสัยตูจะไม่เหมาะถ่ายภาพวิว เพราะมองเท่าไหร่ก็หาจุดไม่เจอ ถ่ายออกมามันรกไปหมด ไม่เหมือนที่ครูว.ถ่ายเลย ดูดีไปหมด ขนาดเลียนแบบมุมแล้วยังออกมางั้นๆ...ฝนตกเป็นระยะๆ ต้องเข้าไปหลบในศาลา มีเพื่อนครูต่างโรงเรียนมาขอดูกล้อง (ไม่รู้เพราะเป็น Nik หรือ เพราะดูหรู) ผมเปลี่ยนเลนส์ 2 - 3 ครั้ง 35 มม. มาถ่าย Portrait บ้าง 70-300 มาซูมบ้าง มีคนมาขอ"ส่อง"ด้วย

     ออกจากราไวย์ ไปแหลมพรหมเทพ(ที่รอคอย) ปรากฎว่า ไกด์แจ้งข่าวดีว่า เรากำลังจะไป "อดดู"พระอาทิตย์ตกที่แหลมพรหมเทพ...เพราะจะออกจากแหลมฯตอน 5 โมงเย็น...ว่ะ พระอาทิตย์ตกตั้ง6โมงครึ่ง...อดเลยยย...
     เรื่องเล่าจากแหลมพรหมเทพ Blog หน้าละกันครับ

วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลงทาง?

     วันที่ 11 พ.ค. 2555 เป็นวันที่ผมต้องไปประชุมครูร่วมกับครูทั้งเขต ต้องทำหน้าที่เป็นช่างภาพในงานโดยไม่รู้ว่าใครสั่งการ ที่ทำก็เพราะเพื่อนครูด้วยกันบอกมา ก็ทั้งถ่ายภาพและก็ฟังบรรยายโดยวิทยากรไปด้วย ฟังมั่งถ่ายรูปมั่ง ก็เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ขอให้ให้เข้าใจกันตามนี้นะครับ
     ในการประชุมครั้งนี้มีการบรรยายสองหัวข้อ หัวข้อหลังเนี่ยเรื่องระเบียบราชการ ฟังดูก็เหมือนจะรู้แล้ว แต่มีสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็อยากเล่าฝากถึงเพื่อนๆที่เป็นข้าราชการด้วยกันมีอยู่สองอย่าง คือ
     1. การประกันตัวผู้ต้องหา(โดยใช้ตำแหน่ง)ในคดียาเสพติด อนุญาตให้ทำได้เฉพาะ พ่อ แม่ คู่สมรส และบุตรเท่านั้น ดังนั้นอย่าเผลอไปประกันใครนะครับจะผิดวินัยได้
     2. ระเบียบราชการห้าม!เล่นแชร์เกิน 3 วง วงเงินห้ามเกิน 300,000 บาท และจำนวนคนทั้งหมดต้องไม่เกิน 30 คน (อันนี้แสดงว่าเราสามารถเล่นแชร์ในโรงเรียนได้หากไม่เกินระเบียบ)

     ส่วนหัวเรื่อง "หลงทาง?" ที่ผมขึ้นไว้นั้น เนื่องจากการบรรยายหัวข้อแรก คือ เรื่องหน้าที่และจรรยบรรณครู ซึ่งจริงๆแล้วเราๆท่านๆก็รู้กันอยู่แล้ว และต้นสังกัดหลายๆหน่วยก็จัดการอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นประจำ แต่ยิ่งฟังยิ่งตอก(ย้ำ)ข้อสงสัยของผมในเรื่องหน้าที่ของครู ซึ่งในความรู้สึกของผม หน้าที่และจรรยาบรรณตามกฎหมาย กับการปฏิบัตินั้นดูชุลมุนสับสน และขัดธรรมชาติในความรู้สึกของผมมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ยินผู้รู้ท่านใดเฉลยหรือไขข้อข้องใจของผมซักที และผมก็ไม่เคยถามใคร เพราะรู้สึกว่า"ครู"มักเป็นผู้ไม่มีปากเสียง เขาให้ทำอะไรก็ทำหมด
     ถามว่าผมข้องใจอะไร....วิทยากรบรรยายว่า การปฏิรูปการศึกษาในบ้านเราเกิดขึ้นมา 3 ครั้ง คือ หนึ่งการประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทำให้เกิดตำราขึ้น   สอง.รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ทำให้มีสถานที่จัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ และ สามการปฏิรูปการศึกษาที่เราๆกำลังเจอกันอยู่ตอนนี้ ท่านวิทยากรบรรยายว่า การปฏิรูปครั้งที่3 เป็นการปฏิรูปวิธีการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเรารู้จักกันในคำว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั่นแหละ ท่านบรรยายต่ออีกว่า เป็น"หน้าที่"ของครูที่จะต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้ได้เต็มศักยภาพของผู้นั้น ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ นักวิชาการทุกคนต่างทราบดีว่า ผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน บางคนอ่อนเลขแต่เก่งอังกฤษ บางคนเก่งวิทย์แต่ศิลปะไม่ได้เรื่องเลย ซึ่งเป็น"หน้าที่"ของครูที่จะบริหารจัดการให้ผู้เรียน"พัฒนา"....ในการอบรมในบางครั้ง ผมได้ยินวิทยากรหลายท่านบรรยายเกี่ยวกับการวัดผลผู้เรียนว่า ครูต้องพิจารณาศักยภาพและให้คะแนนจากการพัฒนา เช่น เด็กชาย ก. เข้า ป.1 อ่านพยัญชนะไม่ได้เลย เมื่อจบ ป.1 ปรากฎว่า เด็กชาย ก. ทำได้แค่อ่าน-ท่องพยัญชนะได้ 44 ตัว ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ของหลักสูตร แต่เด็กชาย ก. ก็ไม่น่าสอบตก เพราะมีการพัฒนา....
     การบรรยายในลักษณะนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมเกิดความสับสน คือ เกณฑ์หรือมาตรฐานช่วงชั้นตลอดจนมาตรฐานแต่ละปีที่อยู่ในหลักสูตร(2551) เป็นสิ่งที่ครูมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้เด็กมีความรู้ตามมาตรฐานนั้นๆ ซึ่งขัดกับกรณีของเด็กชาย ก.  ถึงเวลาผู้บริหารก็ให้เออ..ออ..ห่อหมกไป ให้ผ่านๆเลื่อนชั้นไป พอเด็กชาย ก. เรียนถึง ป.6 ก็ไม่มีความรู้ตามเกณฑ์และมาตรฐานของ ป.6 เพราะมันก็จะต้องกระทบต่อๆกันมา ซึ่งโรงเรียนมักเรียกเด็กพวกนี้ว่า เรียนอ่อน สมองช้า พัฒนาการต่ำ ฯลฯ แต่เด็กก็ต้องสอบ O-Net แล้วพอเด็กทำไม่ได้เขตก็เอาคะแนนมาใส่วงเล็บต่อว่าครูในที่ประชุม...จริงไหมครับ
     กรณีต่อมา จะสังเกตุได้ว่า วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ต่างบรรยายและเน้นเรื่องศักยภาพ และความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน จนทำให้ครูมี"หน้าที่" จัดการเรียนการสอนแบบหลากหลายตามศักยภาพ มีการประเมินเด็กเป็นรายบุคคล มีการส่งเสริมมุ่งเน้นให้เรียนและพัฒนาศักยภาพในด้านที่เด็กมีความสามารถโดดเด่น แต่...กระทรวงศึกษากลับให้เด็กทุกคนสอบ O-Net 8 กลุ่มสาระ มีการตั้งเกณฑ์ผ่าน-ไม่ผ่าน ทุกกลุ่มสาระ นั่นหมายความว่าระบบการศึกษาคาดหวังให้ผู้เรียนทุกคนผ่านเกณฑ์ในทุกสาระวิชา   แล้วศักยภาพ ความถนัด ที่ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายชอบบรรยายบนเวทีมันหายไปไหน? แล้วผมขอถามหน่อยนะครับว่า คนเราจะเก่งทั้ง 8 วิชาไปตลอดชีวิตไหม?  หมอใช้คณิตศาสตร์ทำอะไร ใช้ไหม "แควฯ"ที่เรียนกันมาตาแทบหลุด  วิศวกรไทยที่ทำงานNASA เรียกมาท่องไฟลัมอาณาจักรสัตว์ เขาจะท่องได้ไหม...ท่านรัฐมนตรี บอกชื่อเครื่องดนตรีในวงออเครสต้าให้ถูกต้องซิ...
     พิจารณาดูให้ดี จะมีบางแง่มุมที่ทำให้ผมเห็นว่า ความคาดหวังของระบบการศึกษาขัดแย้งธรรมชาติทางสังคมอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ มาตรฐานการศึกษาบังคับให้ครูมี"หน้าที่"จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน นั่นหมายถึงนักเรียนทุกคนในประเทศย่อมมีผลการเรียนปานกลาง-ดี (ดูจากเป้าหมายเวลา สมศ มาตรวจ) ถ้าทุกคนเรียนดีหมด สมมติ ทุกคนเรียนประถมเกรดดีทุกคน ทุกคนก็ต้องเข้าเรียนมัธยมได้ ผลการเรียน ม.ต้นก้ต้องดี แล้วทุกคนก็จะได้สิทธิ์เรียนสายวิทย์ทุกคน แล้วทุกคนก็ต้องเรียนดี คะแนนสูง และทุกคนก็ต้องมีศักยภาพที่จะเรียนวิศวะฯได้ทุกคน แล้วพอจบมาทำงานเป็นวิศวะโยธา คุณจะสร้างถนนสร้างอาคารได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกรรมกร
     นอกจากนี้เคราะห์กรรมยังซัดครูอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการพูดกันในหมู่นักบริหารในการนำผลสัมฤทธิ์ O-Net มาประเมินครู  ครูโรงเรียนบ้านนอกห่างไกล โรงเรียนเล็กๆ หรือ ครูวิชาพละ ศิลปะ คงได้ครึ่งขั้นกันทั้งชาติ  ไม่ใช่เด็กทำได้หรือไม่ได้ มันไม่แกะข้อสอบออกอ่านด้วยซ้ำไป!

     นักวิชาการก็คิดกันไป จ้องจะกินแต่ครู ตัวก็ทำงานบนตึก ในมหาวิทยาลัย สอนก็น้อย ถึงไม่ได้สอนเลย ก็เลยคิดว่าครูว่างงานกันกระมัง ถึงได้ยัดเยียดหน้าที่ซึ่งนอกเหนือหน้าที่เข้ามามากมาย เช่น วิจัยในชั้นเรียน แรกๆก็ว่า one paper เดี๋ยวนี้สั่งกัน 5 บท มีคัดย่อด้วยนะ...ผมไม่เถียงหรอกว่าครูควรวิจัยเพื่อพัฒนาการสอน แต่ว่าด้วยเรื่องรูปเล่มเนี่ย "ครู"จะเอาเวลาที่ไหน?...ที่เขาเรียกครูเนี่ย เพราะว่างานมัน"หนัก"ชื่อก็บอก ไม่มีหน้าที่เขียนกระดานหรือถือไมค์เพียงอย่างเดียว  คนไหนป่วย ไม่สบาย เกเร หนีเรียน แกล้งเพื่อน ตีกัน จนถึงไม่มีเงิน ครูต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้หมด ยิ่งครูประถมด้วยแล้ว ห้องใครห้องมันนั่งเฝ้าทั้งวันละสายตาไม่ได้ แต่ยังต้องมานั่งพิมพ์วิจัย ไหนจะตรวจการบ้านกองเท่าภูเขา สอนตั้ง 20 คาบต่อสัปดาห์ขึ้นไป การบ้านก็ต้องมี 20 ตั้งต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน ไหนจะทำสื่อ พิมพ์+โรเนียวใบความรู้ใบงานอีก งานฝ่าย ตักอาหาร เช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ฯลฯ นักวิชาการ "อาจารย์"มหาวิทยาลัยเคยทำอะไรบ้างที่กล่าวมา "โรงเรียน"ของ"ครู"ไม่ได้มีฝ่ายเทคโนฯที่คอยพิมพ์ จัด โรเนียวให้ครูแต่อย่างใด ครูต้องทำเองทั้งหมด บางครั้งเครื่องโรเนียวซึ่งมีเครื่องเดียวในโรงเรียนมันเสีย ครูก็ต้องออกเงินจ้างร้านข้างนอกโรเนียวมาสอนอีกต่างหาก แล้วเพราะเหตุผลใด อาจารย์-นักวิชาการในมหาวิทยาลัย จึงสั่งให้ครูทำเช่นนั้นทำเช่นนี้ได้...ครูเป็น ดร. ก็มีเยอะแยะไป
    ที่สำคัญ กฎหมายอย่าง บรรยายอีกอย่าง ถึงเวลาทำต้องทำอีกอย่าง ขนาดส่งผลงานยังผ่านยาก ที่ผ่านกันยากๆ เนี่ยเพราะรูปแบบไม่ถูก คนหนึ่งบอกชิดขวา คนหนึ่งบอกชิดซ้าย ผมว่า ปัญหาการศึกษาบ้านเราไม่ใช่เป็นเพราะครูหรอกครับ ถ้าจะเป็นเพราะครูก็เพราะว่า ครูทำอะไรไม่ถูกต่างหาก  ก็เล่นย้อนกันไปย้อนกันมาแบบนี้ ผมว่าอีกหน่อยคงต้องปฏิรูปครั้ง 4....ปฏิรูปกลับไปใช้แบบเดิม...ที่แปลกแต่จริงคือ ปฏิรูปการศึกษาทำให้ครูเก่าๆชิงเออรี่ฯกันมากเพราะไม่คุ้นเคยการสอนแบบใหม่ รับไม่ได้กับการให้นักเรียนมาอภิปรายโต้แย้งกับครู แต่คนรุ่นเก่าๆพวกนี้แหละครับ ที่กลายมาเป็นที่รัฐมนตรี ที่ปรึกษาคนใหญ่คนโต กุมนโยบาย กินเงินเดือนเชี่ยวชาญพิเศษ และมาเป็นวิทยากรอบรมให้กับครูยุคใหม่! แล้วอย่างนี้จะให้ผมไม่หลงทางไหวหรือ..!