วันที่ 11 พ.ค. 2555 เป็นวันที่ผมต้องไปประชุมครูร่วมกับครูทั้งเขต ต้องทำหน้าที่เป็นช่างภาพในงานโดยไม่รู้ว่าใครสั่งการ ที่ทำก็เพราะเพื่อนครูด้วยกันบอกมา ก็ทั้งถ่ายภาพและก็ฟังบรรยายโดยวิทยากรไปด้วย ฟังมั่งถ่ายรูปมั่ง ก็เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ขอให้ให้เข้าใจกันตามนี้นะครับ
ในการประชุมครั้งนี้มีการบรรยายสองหัวข้อ หัวข้อหลังเนี่ยเรื่องระเบียบราชการ ฟังดูก็เหมือนจะรู้แล้ว แต่มีสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วก็อยากเล่าฝากถึงเพื่อนๆที่เป็นข้าราชการด้วยกันมีอยู่สองอย่าง คือ
1. การประกันตัวผู้ต้องหา(โดยใช้ตำแหน่ง)ในคดียาเสพติด อนุญาตให้ทำได้เฉพาะ พ่อ แม่ คู่สมรส และบุตรเท่านั้น ดังนั้นอย่าเผลอไปประกันใครนะครับจะผิดวินัยได้
2. ระเบียบราชการห้าม!เล่นแชร์เกิน 3 วง วงเงินห้ามเกิน 300,000 บาท และจำนวนคนทั้งหมดต้องไม่เกิน 30 คน (อันนี้แสดงว่าเราสามารถเล่นแชร์ในโรงเรียนได้หากไม่เกินระเบียบ)
ส่วนหัวเรื่อง "หลงทาง?" ที่ผมขึ้นไว้นั้น เนื่องจากการบรรยายหัวข้อแรก คือ เรื่องหน้าที่และจรรยบรรณครู ซึ่งจริงๆแล้วเราๆท่านๆก็รู้กันอยู่แล้ว และต้นสังกัดหลายๆหน่วยก็จัดการอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นประจำ แต่ยิ่งฟังยิ่งตอก(ย้ำ)ข้อสงสัยของผมในเรื่องหน้าที่ของครู ซึ่งในความรู้สึกของผม หน้าที่และจรรยาบรรณตามกฎหมาย กับการปฏิบัตินั้นดูชุลมุนสับสน และขัดธรรมชาติในความรู้สึกของผมมานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ยินผู้รู้ท่านใดเฉลยหรือไขข้อข้องใจของผมซักที และผมก็ไม่เคยถามใคร เพราะรู้สึกว่า"ครู"มักเป็นผู้ไม่มีปากเสียง เขาให้ทำอะไรก็ทำหมด
ถามว่าผมข้องใจอะไร....วิทยากรบรรยายว่า การปฏิรูปการศึกษาในบ้านเราเกิดขึ้นมา 3 ครั้ง คือ หนึ่งการประดิษฐ์อักษรไทยของพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งทำให้เกิดตำราขึ้น สอง.รัชกาลที่ 5 ทรงจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ทำให้มีสถานที่จัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ และ สามการปฏิรูปการศึกษาที่เราๆกำลังเจอกันอยู่ตอนนี้ ท่านวิทยากรบรรยายว่า การปฏิรูปครั้งที่3 เป็นการปฏิรูปวิธีการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเรารู้จักกันในคำว่า เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั่นแหละ ท่านบรรยายต่ออีกว่า เป็น"หน้าที่"ของครูที่จะต้องดำเนินการจัดการเรียนการสอนให้แก่ผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้ได้เต็มศักยภาพของผู้นั้น ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะ นักวิชาการทุกคนต่างทราบดีว่า ผู้เรียนแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน บางคนอ่อนเลขแต่เก่งอังกฤษ บางคนเก่งวิทย์แต่ศิลปะไม่ได้เรื่องเลย ซึ่งเป็น"หน้าที่"ของครูที่จะบริหารจัดการให้ผู้เรียน"พัฒนา"....ในการอบรมในบางครั้ง ผมได้ยินวิทยากรหลายท่านบรรยายเกี่ยวกับการวัดผลผู้เรียนว่า ครูต้องพิจารณาศักยภาพและให้คะแนนจากการพัฒนา เช่น เด็กชาย ก. เข้า ป.1 อ่านพยัญชนะไม่ได้เลย เมื่อจบ ป.1 ปรากฎว่า เด็กชาย ก. ทำได้แค่อ่าน-ท่องพยัญชนะได้ 44 ตัว ซึ่งไม่อยู่ในเกณฑ์ของหลักสูตร แต่เด็กชาย ก. ก็ไม่น่าสอบตก เพราะมีการพัฒนา....
การบรรยายในลักษณะนี้นี่เอง ที่ทำให้ผมเกิดความสับสน คือ เกณฑ์หรือมาตรฐานช่วงชั้นตลอดจนมาตรฐานแต่ละปีที่อยู่ในหลักสูตร(2551) เป็นสิ่งที่ครูมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนให้เด็กมีความรู้ตามมาตรฐานนั้นๆ ซึ่งขัดกับกรณีของเด็กชาย ก. ถึงเวลาผู้บริหารก็ให้เออ..ออ..ห่อหมกไป ให้ผ่านๆเลื่อนชั้นไป พอเด็กชาย ก. เรียนถึง ป.6 ก็ไม่มีความรู้ตามเกณฑ์และมาตรฐานของ ป.6 เพราะมันก็จะต้องกระทบต่อๆกันมา ซึ่งโรงเรียนมักเรียกเด็กพวกนี้ว่า เรียนอ่อน สมองช้า พัฒนาการต่ำ ฯลฯ แต่เด็กก็ต้องสอบ O-Net แล้วพอเด็กทำไม่ได้เขตก็เอาคะแนนมาใส่วงเล็บต่อว่าครูในที่ประชุม...จริงไหมครับ
กรณีต่อมา จะสังเกตุได้ว่า วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ต่างบรรยายและเน้นเรื่องศักยภาพ และความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน จนทำให้ครูมี"หน้าที่" จัดการเรียนการสอนแบบหลากหลายตามศักยภาพ มีการประเมินเด็กเป็นรายบุคคล มีการส่งเสริมมุ่งเน้นให้เรียนและพัฒนาศักยภาพในด้านที่เด็กมีความสามารถโดดเด่น แต่...กระทรวงศึกษากลับให้เด็กทุกคนสอบ O-Net 8 กลุ่มสาระ มีการตั้งเกณฑ์ผ่าน-ไม่ผ่าน ทุกกลุ่มสาระ นั่นหมายความว่าระบบการศึกษาคาดหวังให้ผู้เรียนทุกคนผ่านเกณฑ์ในทุกสาระวิชา แล้วศักยภาพ ความถนัด ที่ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายชอบบรรยายบนเวทีมันหายไปไหน? แล้วผมขอถามหน่อยนะครับว่า คนเราจะเก่งทั้ง 8 วิชาไปตลอดชีวิตไหม? หมอใช้คณิตศาสตร์ทำอะไร ใช้ไหม "แควฯ"ที่เรียนกันมาตาแทบหลุด วิศวกรไทยที่ทำงานNASA เรียกมาท่องไฟลัมอาณาจักรสัตว์ เขาจะท่องได้ไหม...ท่านรัฐมนตรี บอกชื่อเครื่องดนตรีในวงออเครสต้าให้ถูกต้องซิ...
พิจารณาดูให้ดี จะมีบางแง่มุมที่ทำให้ผมเห็นว่า ความคาดหวังของระบบการศึกษาขัดแย้งธรรมชาติทางสังคมอยู่ไม่น้อย กล่าวคือ มาตรฐานการศึกษาบังคับให้ครูมี"หน้าที่"จัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนผ่านเกณฑ์ทุกคน นั่นหมายถึงนักเรียนทุกคนในประเทศย่อมมีผลการเรียนปานกลาง-ดี (ดูจากเป้าหมายเวลา สมศ มาตรวจ) ถ้าทุกคนเรียนดีหมด สมมติ ทุกคนเรียนประถมเกรดดีทุกคน ทุกคนก็ต้องเข้าเรียนมัธยมได้ ผลการเรียน ม.ต้นก้ต้องดี แล้วทุกคนก็จะได้สิทธิ์เรียนสายวิทย์ทุกคน แล้วทุกคนก็ต้องเรียนดี คะแนนสูง และทุกคนก็ต้องมีศักยภาพที่จะเรียนวิศวะฯได้ทุกคน แล้วพอจบมาทำงานเป็นวิศวะโยธา คุณจะสร้างถนนสร้างอาคารได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกรรมกร
นอกจากนี้เคราะห์กรรมยังซัดครูอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการพูดกันในหมู่นักบริหารในการนำผลสัมฤทธิ์ O-Net มาประเมินครู ครูโรงเรียนบ้านนอกห่างไกล โรงเรียนเล็กๆ หรือ ครูวิชาพละ ศิลปะ คงได้ครึ่งขั้นกันทั้งชาติ ไม่ใช่เด็กทำได้หรือไม่ได้ มันไม่แกะข้อสอบออกอ่านด้วยซ้ำไป!
นักวิชาการก็คิดกันไป จ้องจะกินแต่ครู ตัวก็ทำงานบนตึก ในมหาวิทยาลัย สอนก็น้อย ถึงไม่ได้สอนเลย ก็เลยคิดว่าครูว่างงานกันกระมัง ถึงได้ยัดเยียดหน้าที่ซึ่งนอกเหนือหน้าที่เข้ามามากมาย เช่น วิจัยในชั้นเรียน แรกๆก็ว่า one paper เดี๋ยวนี้สั่งกัน 5 บท มีคัดย่อด้วยนะ...ผมไม่เถียงหรอกว่าครูควรวิจัยเพื่อพัฒนาการสอน แต่ว่าด้วยเรื่องรูปเล่มเนี่ย "ครู"จะเอาเวลาที่ไหน?...ที่เขาเรียกครูเนี่ย เพราะว่างานมัน"หนัก"ชื่อก็บอก ไม่มีหน้าที่เขียนกระดานหรือถือไมค์เพียงอย่างเดียว คนไหนป่วย ไม่สบาย เกเร หนีเรียน แกล้งเพื่อน ตีกัน จนถึงไม่มีเงิน ครูต้องเข้าไปแก้ปัญหาให้หมด ยิ่งครูประถมด้วยแล้ว ห้องใครห้องมันนั่งเฝ้าทั้งวันละสายตาไม่ได้ แต่ยังต้องมานั่งพิมพ์วิจัย ไหนจะตรวจการบ้านกองเท่าภูเขา สอนตั้ง 20 คาบต่อสัปดาห์ขึ้นไป การบ้านก็ต้องมี 20 ตั้งต่อสัปดาห์เช่นเดียวกัน ไหนจะทำสื่อ พิมพ์+โรเนียวใบความรู้ใบงานอีก งานฝ่าย ตักอาหาร เช็ดขี้เช็ดเยี่ยว ฯลฯ นักวิชาการ "อาจารย์"มหาวิทยาลัยเคยทำอะไรบ้างที่กล่าวมา "โรงเรียน"ของ"ครู"ไม่ได้มีฝ่ายเทคโนฯที่คอยพิมพ์ จัด โรเนียวให้ครูแต่อย่างใด ครูต้องทำเองทั้งหมด บางครั้งเครื่องโรเนียวซึ่งมีเครื่องเดียวในโรงเรียนมันเสีย ครูก็ต้องออกเงินจ้างร้านข้างนอกโรเนียวมาสอนอีกต่างหาก แล้วเพราะเหตุผลใด อาจารย์-นักวิชาการในมหาวิทยาลัย จึงสั่งให้ครูทำเช่นนั้นทำเช่นนี้ได้...ครูเป็น ดร. ก็มีเยอะแยะไป
ที่สำคัญ กฎหมายอย่าง บรรยายอีกอย่าง ถึงเวลาทำต้องทำอีกอย่าง ขนาดส่งผลงานยังผ่านยาก ที่ผ่านกันยากๆ เนี่ยเพราะรูปแบบไม่ถูก คนหนึ่งบอกชิดขวา คนหนึ่งบอกชิดซ้าย ผมว่า ปัญหาการศึกษาบ้านเราไม่ใช่เป็นเพราะครูหรอกครับ ถ้าจะเป็นเพราะครูก็เพราะว่า ครูทำอะไรไม่ถูกต่างหาก ก็เล่นย้อนกันไปย้อนกันมาแบบนี้ ผมว่าอีกหน่อยคงต้องปฏิรูปครั้ง 4....ปฏิรูปกลับไปใช้แบบเดิม...ที่แปลกแต่จริงคือ ปฏิรูปการศึกษาทำให้ครูเก่าๆชิงเออรี่ฯกันมากเพราะไม่คุ้นเคยการสอนแบบใหม่ รับไม่ได้กับการให้นักเรียนมาอภิปรายโต้แย้งกับครู แต่คนรุ่นเก่าๆพวกนี้แหละครับ ที่กลายมาเป็นที่รัฐมนตรี ที่ปรึกษาคนใหญ่คนโต กุมนโยบาย กินเงินเดือนเชี่ยวชาญพิเศษ และมาเป็นวิทยากรอบรมให้กับครูยุคใหม่! แล้วอย่างนี้จะให้ผมไม่หลงทางไหวหรือ..!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น