2 สัปดาห์นี้ผมต้องวนเวียนไปอบรมที่ต่างๆหลายวัน เรื่องที่อบรมก็เป็นหัวข้อต่างๆกันไป แต่ที่น่าสังเกตุคือ ไม่ว่าจะไปอบรมเรื่องใด นักวิชาการก็มักพูดถึงกระบวนการ หรือ แนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ประเทศไทยกำลังดำเนินอยู่ และมักโยงไปถึงการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ผมได้มีโอกาสฟังวิทยากรบรรยายทั้งสิ้น 4 คน ทั้งหมดพูดเรื่องการศึกษาด้วยวิธีการต่างๆกัน ตลอดจนการมองการศึกษาและแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ต่างกัน แต่...นักวิชาการที่ผมได้มีโอกาสฟังบรรยายในช่วงนี้ ไม่ใช่นักวิชาการศึกษาที่มาจากหน่วยงานบริหารการศึกษาอย่างที่เคยผ่านมา ผมต้องแปลกใจที่ผู้บรรยาย 2 ใน 4 เป็นนักรัฐศาสตร์ อีก 1 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาแต่ก็ไม่ได้เป็นนักการศึกษามาตั้งแต่แรก(มาเป็นตอนเรียน ป.เอก) ด้วยความที่เป็น ดร. คำพูดคนพวกนี้จึงมีน้ำหนักในสังคม คนอย่างผม ป.ตรี ธรรมดา พูดอะไรก็ผิดไปหมด คิดอะไรแปลกว่าคนอื่นเขาก็ว่าบ้า ไม่เหมือนคนเป็น ดร. คิดอะไรแปลกๆ คนจะบอกว่า"คิดต่าง"..เออ ดี
ผมต้องเอาเรื่องอบรมมาโพลต์บล็อคเพราะว่ามีเหตุผล 3 ประการคือ
1.ผมอยากเล่าให้ฟังว่า"คนนอก"ระบบการศึกษาเขามองเราซึ่งเป็น"คนใน"อย่างไร
2.ผมรู้แล้วว่าผมไม่ได้คิดไปเอง(อยู่คนเดียว)ว่าระบบการศึกษาของไทยอยู่ในวังวนของทางตัน
3.ผมอยากเผยแพร่ความรู้ของคนรัฐศาสตร์ เผื่อจะมีประโยชน์กับนักการศึกษาบ้าง
แต่....ผมไม่รู้จะเขียนยังไงให้เข้าใจได้ เพราะเรื่องมัน"เยอะ" เอาเป็นว่าผมขอวิจารณ์บ้าง ยกคำบรรยายบ้างแล้วกัน เหยียบเท้าใครก็ขออภัยด้วย ผมไม่ได้มีเจตนาจะว่ากล่าวผู้ใดหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดครับ
เริ่มต้นที่ "ทฤษฎีของการทำวิจัย"...ผมเพิ่งเคยได้ยินเรื่อง method กับ methodology ซึ่งฟังดูแปลดูเผินๆ จะพบว่ามีความหมายซ้ำซ้อนกัน แต่ในทางการวิจัย 2 คำนี้เป็นคนละเรื่องกันเลย วิทยากรบ่นให้ฟังว่า เวลาสอนวิจัยให้นักศึกษา ป.โท ส่วนมากจะไม่เข้าใจเรื่องนี้กันทั้งนั้น มีส่วนน้อยที่เข้าใจ แล้วก็ทำผิด แม้ว่าอาจารย์จะพยายามเน้นแล้วแต่นักศึกษามัก"พยายามไม่เข้าใจ" แล้ววิทยากรก็พูดเบาๆข้างไมค์ว่า คนที่มาเรียน ป.โท ส่วนมากมาจาก ครู อันดับ1 ตำรวจ อันดับ2 "....ไอ้พวกเนี้ย เข้าใจอะไรยาก เพราะปกติอยู่ที่ทำงานมันเก่งกว่าคนอื่นโดยอาชีพ ไม่ค่อยจะชอบฟัง..." โดนไป 1 ดอก!!!
เรื่องต่อเนื่องจากข้างบน คือเรื่องทฤษฎีของการทำวิจัย หนึ่งในทฤษฎีแปลก(สำหรับผม) คือ ทฤษฎีปทัสถาน ผมขอยอมรับว่าผมไม่เคยได้ยิน คนเรียน ป.โท คงเข้าใจกันหมดแล้ว ทฤษฎีนี้คือว่าด้วยเรื่องการอธิบายว่า"สิ่งใดสมควร" เรื่องใดดีกว่า เรื่องใดควรทำก่อน หรือ วิธีการหรือสิ่งใดที่เหมาะสมกับสภาพสังคมในภาวะปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้บริหาร(จึงมีเรียนในคณะรัฐประสานศาสตร์ เพราะพวกนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง) ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะถูกหล่อหลอมมาจาก Socialization agent เช่น ครอบครัว โรงเรียน เพื่อน ฯลฯ จนเป็นผู้ที่มีโลกทัศน์ มุมมอง วิธีคิด เป็นของตนเองไม่เหมือนคนอื่น เช่น ครู ก. คิดว่าควรรับเด็กที่มีผลการเรียนดี มีความสามารถสูงเข้ามาสอน เพราะสามารถประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนได้ ส่วน ครู ข. คิดว่า ควรรับเด็กที่มีความสามารถน้อย-ปานกลางมาสอนให้พอจบได้ มีงานทำในอนาคต โดยไม่สนชื่อเสียงและความสำเร็จสูงๆ....ครูคนหนึ่งอาจรู้สึกอนาจต่อการทำงานทำงานของอีกคนหนึ่ง ในขณะที่อีกคนหนี่งอาจสังเวชใจความคิดของอีกผู้หนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ถูกปลูกฟังมาอย่างแตกต่างกันทั้งสิ้น หากจะเรียกแบบชาวบ้านเราคงเรียกว่า"สันดาน"...วิทยากรนอกเรื่องว่า สิ่งนี้จะถูกปลูกฝังเรียนรู้อยู่ประมาณ 30 ปี แล้วจะเปลี่ยนไม่ได้หรือเปลี่ยนยาก แต่ทฤษฎีปทัสถานนี้ไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่เหมาะสมหรือไม่ เช่น สังคมส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งใดถูกต้อง ปทัสถานของคนส่วนน้อยก็จะเสียเปรียบ...
ที่ผมยกคำบรรยายของวิทยากรมาซะยืดยาวก็เพราะว่าคำบรรยายหลายๆส่วน (โดยเฉพาะเวลาบรรยายนอกเรื่อง) มันโดนการศึกษาของเรา...อย่าลืมว่า วิทยากรคราวนี้ไม่ใช่นักศึกษาในระบบที่เราคุ้นเคย เขาเป็นคนนอก คำพูดทุกคำจึงเป็นลักษณะการมองจากคนข้างนอก... ถามว่าโดนอย่างไร?...
เมื่อวันเสาร์ ครูทุกคนได้ไปฟังบรรยายโดยคนนอก(อีกแล้ว) แม้จะมี ป.เอกเป็นนักการศึกษา แต่ก็ไม่ได้เป็นมาตั้งแต่ ป.ตรี ไม่มีวุฒิครูด้วยซ้ำไป...วิทยากรชอบใช้คำว่า "ผมไม่เข้าใจ" "อันตราย" ในการบรรยายตลอด เนื้อหาที่บรรยายก็อยู่ในแนวต่อต้านระบบการศึกษาในปัจจุบันอย่างรุนแรง คือไม่เห็นอะไรดีเลยในระบบการศึกษาปัจจุบัน ผมขอวิเคราะห์เป็นบางเรื่องครับ
เรื่องลูกเสือ....จะมีไปทำไม?
จริงๆผมก็ไม่เข้าใจอย่างวิทยากรว่าแหละครับ ที่ว่าลูกเสือเป็นกิจกรรมเสรีไม่ใช่บังคับ ผมก็ว่าจริง แต่...วิชาลูกเสือในโรงเรียนมีเรียนเพื่อเน้นการฝึกระเบียบให้เด็ก คำว่า"ระเบียบ" คือ ยืนตรงเป็น เข้าแถวเป็น ทำความเคารพเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมและพัฒนาไปสู่ความมี"วินัย"...แล้วถามว่า ถ้าเด็กไม่เรียนลูกเสือ แล้ววิชาอะไรจะสอน"ระเบียบ"เด็ก แล้วพอโตไปกลายเป็นคนไม่มีระเบียบไม่มีวินัย สังคมจะโทษใคร...คงไม่ใช่ครู/โรงเรียน/ระบบการศึกษานะ.......มองย้อนบ้าง...ตอนนี้เวลาโรงเรียนสอนลูกเสือ โรงเรียนสอนอะไร สอนแล้วมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด นำไปใช้ได้แค่ไหน....และควรมีหรือไม่ควรมี?...ความ"เฮงซวย"ของการมีวิชาลูกเสือคืออะไร "ไร้สาระ" หรือ "ไร้ประสิทธิภาพ"
เรื่อง O-net มาตรฐานการศึกษา
ผมเป็นคนหนึ่งล่ะที่ต่อต้านระบบ O-net เพราะอะไร? เพราะผมเป็นครูกลุ่มสาระศิลปะ(อิอิ) เป็นกลุ่มวิชาที่เด็กเดินเข้ามาก็คาดไว้แล้วว่าจะได้ 4 ไม่ว่าจะเรียนหรือไม่ ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ก็มองว่าวิชากลุ่มนี้ไม่สำคัญ ไม่ควรให้เกรดต่ำจนเป็นวัฒนธรรมที่กลุ่มวิชานี้ให้เด็กตกไม่ได้ ให้เกรด 1 เกรด 2 ยังโดนตำหนิ....กลุ่มสาระนี้โดนชัดเจนเวลาให้เกรดต่ำ เวลาเกรดคณิต วิทย์ ตก พ่อ-แม่ที่ชอบมีปัญหาจะถามว่า "ลูกทำไม่ได้เลยหรือ จึงตก" แต่พอวิชากลุ่มศิลปะจะถามว่า"ลูกส่งงานครบแล้วทำไมไม่ได้ 4" ซึ่งเห็นชัดว่า ผลงานเด็กจะดีหรือไม่ดี จะต้องไม่มีผลต่อคะแนน พูดง่ายๆ ครูตรวจงานว่าส่งหรือไม่ส่งได้อย่างเดียว วาดรูปสวยไม่สวยไม่เกี่ยว! เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กจึงไม่ใส่ใจจะเรียนวิชานี้ให้มีประสิทธิภาพ เพราะเรียนยังไงก็4...พอต้องสอบ O-net เด็กจึงไม่มีความรู้...จริงๆแล้วเด็กไม่ได้อ่านโจทย์ด้วยซ้ำไป... แต่เดี๋ยวก่อน วิทยากรที่มาอบรมให้เราไม่ได้มองปัญหา O-net แบบนั้น ปัญหาของท่าน ดร. คือ ข้อสอบ O-net มากกว่า 50% เป็นข้อสอบท่องจำ ที่สำคัญข้อสอบหลายข้อเป็นการวัดความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้ถาวร คือ "มันไม่ได้เป็นเช่นนั้นตลอดไป" เช่น มีข้อสอบถามว่า ดาวเทียมสื่อสารดวงล่าสุดชื่ออะไร?...ผมฟังแล้วขำเลย เพราะตอนเด็กผมโดนมาแล้วกับข้อสอบที่ถามว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันชื่ออะไร...ตอนเรียนก็เป็นคนหนึ่ง พอถึงวันสอบมีพระบรมราชโองการแต่ตั้งนายกใหม่พอดี(แต่เป็นคนที่เคยเป็นมาแล้ว) แล้วดันมีชื่ออยู่ในตัวเลือกทั้งสองคน...จะเอาคนที่ฟังข่าวเมื่อเช้าหรือจะเอาคนที่เรียนมา...แล้วครูจะเฉลยว่าอะไร?..ฮา...
มองย้อนไปย้อนมา...มี O-net... ทั้งที่วิทยากรอบรมการสอนชอบบอกว่า สอนตามศักยภาพเด็กอ่อนจาก 0 เป็น 1 เด็กเก่งให้สอนจาก 10 เป็น 100 (แล้ว ึงจะมีหลักสูตรแกนกลางไว้หาเี้ยอะไร) แต่พอเฉลี่ย O-net ออกมาต่ำกว่าเส้นก็ว่ากันตำหนิกัน ผมบ่นหลายครั้งแล้ว...เท่านั้นยังไม่พอ O-net ยังมีความคาดหวังให้มีการพัฒนาขึ้นทุกปี ใครจะทำได้(วะ) แต่ถ้าไม่มี O-net โรงเรียนสอนเองสอบเองออกเกรดเอง มันก็ไม่มีมาตรฐานอะไรมากำหนดเปรียบเทียบเลย โรงเรียนก็ว่าเองเออเอง แถมการศึกษาก็เรื่อยเฉื่อยเพราะไม่มีการประเมิน ...O-net ไม่ดี หรือว่า อะไรไม่ดี เด็กถึงตก O-net ทำไมโรงเรียนต้องกลัว O-net ...ถ้า O-net ดีจริง ทำไมไม่ใช้เป็นข้อสอบกลางโรงเรียนไม่ต้องออกข้อสอบ??....แต่ที่แน่ๆ ผมว่าการใช้ผล O-net มาประเมินโรงเรียนหรือความดีความชอบของครูมันเป็นความงี่เง่าอย่างที่สุด ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงครู/ผุ้บริหารโรงเรียนดังๆคงได้ปีละ 5 ขั้นแน่ๆ โรงเรียนชั้นสองคงกินปีละขั้นไปทั้งชาติ โดยเฉพาะครูศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ พละ ไม่ต้องหวังเลย ไม่แป๊กก็บุญหนักหนาแล้วววว...
เรื่องนักเรียนโบราณใส่ชุดนักเรียน
ผมรอเรื่องนี้มาตั้งแต่เป็นนักเรียน "เมื่อไหร่จะเลิกแต่งชุดนักเรียนซะที" ซึ่งขณะนี้ก็ยังรออยู่ แล้วผมก็บ่นแบบนี้บ่อยมากช่วงหน้าหนาว ก็ลองคิดดูละกัน ต่างจังหวัดเช้ามาอุณหภูมิแถวๆ 10 องศา.ลมก็แรง ใส่กางเกงขาสั้นไปโรงเรียน...กูจะบ้าตายคนคิดชุดนักเรียนนี่มันเอาอวัยวะส่วนไหนคิดแบบ...ผมก็คิดในใจว่าเด็กผู้หญิงคงหนาวตูดกันน่าดู(ได้แค่คิดน่ะ โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนประจำชายล้วนครับ) ผมก็อยากรู้เหมือนกัน ว่าถ้าเกิดมีโรงเรียนไหนให้เด็กใส่ชุดอะไรก็ได้มาโรงเรียน เด็กมันจะแก้ผ้ามาโรงเรียนเลยหรือเปล่า?...แล้วถ้า"ชุดสุภาพ" มันจะไม่เรียนหนังสือไม่ได้ใช่ไหม?...ผมชอบจริงๆที่วิทยากรบอกว่า "ห้องเรียนคือที่พบกันของคนสองกลุ่ม คือ กลุ่มไม่อยากเรียนกับกลุ่มไม่อยากสอน" เออ มันก็จริงนะ...ทีโรงเรียนกวดวิชาเด็กแต่งหล่อแต่งสวยไปเรียน เห็นมันอยากไปกันจัง เพราะอะไร?...ผมว่าผลการเรียนมันไม่ได้อยู่ที่เครื่องแบบ ก็จริงอยู่ถ้าจะย้อนว่าแต่งชุดนักเรียนก็ไม่ได้ทำให้โง่ลง แต่การบังคับ...โดยเฉพาะการบังคับที่"ลืม"เหตุผลกันไปแล้ว โลกวิวัฒน์ไปแล้วแต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าชุดนักเรียนคือระเบียบ มันเป็นการลดทอนนนน...อะไรหลายๆอย่างของเด็กลง อย่างน้อยๆคนที่มีปัญหากับชุดนักเรียน ซึ่งอาจบ้านจน ฯลฯ ก็ต้องมาทุกข์ใจกับเรื่องนี้พอๆกับเด็กดื้อที่ต้องคอยทะเลาะกับครูปกครองนั่นแหละ
เดี๋ยว...ก่อนนักเรียนจะเฮ...ลองมองย้อนดูก่อนว่า ปทัสถานของเด็กไทยเป็นอย่างไร?...ตอนนี้หลายคนโดยเฉพาะนักเรียนมองว่าระเบียบการแต่งกายเป็นเรื่องโบราณสมควรยกเลิก...แล้วถ้ายกเลิกจริง!!! นักเรียนจะแต่งชุดอะไรมาโรงเรียน...คนบ้านมีอันจะกิน(รวยโคตร)จะแต่งอะไรมา คนบ้านจนเห็นแล้วจะว่าอย่างไร? จะอิจฉาไหม จะอายไหมถ้าเธอบ้านจนมีแต่เสื้อยือกางเกงยืนเก่าๆมาโรงเรียน ต้องมาเป็นเพื่อนกับคนบ้านรวยใส่หลุยส์วิตองมาเรียนทุกวัน..เธอจะทนเป็นเพื่อนกับมันได้นานเท่าไหร่?...พอบอกว่า "พอดี" "สุภาพ"นะ ปทัสถานของนักเรียนไทยเป็นอย่างไร?...สุภาพ...แบบไหน? พอดี...แบบไหน? ....ทหารแต่งเครื่องแบบเพื่อแบ่งยศฐาบรรดาศักดิ์ แต่งเครื่องแบบเพื่อมีไว้แสดงยศ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างทหารบ้านรวยกับทหารบ้านจน...นายสิบ บ้านรวยเป็นพันล้านก็ต้องรับคำสั่งนายร้อยจนๆ เพราะมองจากเครื่องแบบมันไม่มีทางรู้ว่ารวยหรือจน นั่นคือเหตุผลของเครื่องแบบ...แล้วถ้าทหารยกเลิกเครื่องแบบเพราะมันเชย...จะเกิดอะไรขึ้น? มันเหมาะสมไหมที่ทหาร-ตำรวจ จะแต่งชุดเหมือนชาวบ้านแต่ถือปืนเดินไปเดินมา...นานๆไปโจรสวมรอยเนียนว่าเป็นทหารเป็นตำรวจ สังคมจะเป็นอย่างไร?...เครื่องแบบก็คือเครื่องแบบ ที่มันเชยก็เพราะคนใส่ไม่ชอบมันก็เลยไม่ดูแลไม่แต่งให้เหมาะสม พยายามแก้พยายามแหวก ก็เพราะไม่ชอบไม่ภูมิใจ เครื่องแบบดูเท่ห์เพราะคนใส่ภาคภูมิใจหมั้นดูแลตั้งใจแต่ง มันก็ดูดี....ความสวยงามมันอยู่ที่ใจ...จริงไหมครับ?...มองย้อนมาที่ชุดนักเรียนโดยเปรียบเทียบกับตัวอย่างของทหาร...ใส่เครื่องแบบนักเรียนดีหรือจะยกเลิก? ถ้าจะยกเลิกเพราะอะไร?...ชุดมันเชย...หรือกูอยากอวด...หวังว่าถ้ายกเลิกชุดนักเรียนหมดประเทศ คงไม่มีนักเรียนรุ่นใหม่เรียกร้องว่าอยากแต่งเครื่องแบบนักเรียนอีกนะ..."...ทีญี่ปุ่นทีเกาหลีเขายังมีเครื่องแบบนักเรียนเลย โรงเรียนไทยเฮงซวยไม่ยอมแต่ง..."
เรื่องหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่วิทยากรท่านหนึ่งออกนอกเรื่องให้ฟังอันเนื่องมาจากการอธิบายขยายความของคำว่า "ศาสตร์"หลังวิชาต่างๆ ซึ่งท่านวิทยากรอธิบายว่า วิชาที่ตามหลังด้วยคำว่า"ศาสตร์" คือวิชาที่ว่ากันด้วยหลักการ เช่น วิทยาศาสตร์ มีกฎ ข้อพิสูจน์ชัดเจนตายตัว ไม่ว่าจะนานกี่ร้อยปีก็จะยังคงถูกต้องเสมอ ส่วนวิชาที่ไม่"ศาสตร์"ตามท้าย มักเป็นวิชาที่เรียกว่า "ศาสตร์ประยุกต์"ไม่ใช่ศาสตร์แท้ คือ ต้องนำเอาความรู้จากศาสตร์แท้มาประยุกต์ให้เกิดความรู้ใหม่...พอถึงตรงนี้วิทยากรก็เลี้ยวออกว่าวิชารัฐประสานศาสตร์น่าจะเรียกเป็นอย่างอื่น เพราะหลักการที่ร่ำเรียนกันมันเปลี่ยนทุกวัน อย่าว่าแต่วิชานี้เลย วิทยาศาสตร์ยังมีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อถึงเวลาหนึ่ง...แล้ววิทยากรก็เลี้ยวอีกว่า ครูรู้หรือเปล่าว่าเราสอนวิทยาศาตร์เด็กทำไม ทำไมเด็กต้องเรียนวิทยาศาสตร์ เรียนคณิตศาสตร์ คิดโจทย์กันหัวจะแตกสุดท้ายก็เรียนแค่เพื่อไปสอบให้ได้คะแนน...วิทยากรไม่ได้ตอบหรือเฉลยนะครับ แต่มันทำให้ผมนึกได้ว่าผมเคยได้มีโอกาสฟังอดีต ผอ.สพฐ ท่านหนึ่ง คุยกับนักเรียนที่เป็นนักดนตรีที่ผมควบคุมวงไปออกงานว่า "การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นการฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีขั้นตอน รู้จักตั้งสมมติฐาน พิสูจน์อย่างมีระบบ ซึ่งจะปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้และรู้จักการคิดอย่างมีเหตุมีผล ส่วนคณิตศาสตร์นั้น..." ท่านตอบคำถามนักเรียนว่าทำไมต้องเรียนคณิตศาสตร์ยากๆด้วยๆ ท่านหัวเราะก่อนจะตอบว่า "นั่นนะสิ.." แล้วท่านก็หันไปพูดกับผู้ติดตามบางคนว่า คณิตศาสตร์เรายากไปไหม แต่ท่านก็อธิบายว่า การเรียนคณิตศาสตร์คือการฝึกให้รู้จักคิดซับซ้อนซึ่งจำเป้นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันที่ต้องคิดอะไรๆมากกว่า 1...ยิ่งเรียนสูง โจทย์คณิตศาสตร์จะยิ่งซับซ้อน(มิใช่ยาก) เพื่อให้นักเรียนได้ฝึกคิดมากๆ....อันนี้เป็นคำตอบของบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพฐ.ณ ขณะนั้น แต่ถ้าถามครูหรือเด็กตอนนี้ ถ้าไม่บอกข้างบน ครู/เด็กจะตอบว่าอะไร?...อย่าบอกนะว่าจะตอบว่าเพื่อให้สามารถแก้โจทย์ยากๆได้ เวลาไป admission จะได้ทำข้อสอบได้เยอะๆ...ตูละเบื่อ....
ที่เบื่อเพราะว่าเราจัดการเรียนสอน จัดหลักสูตรกันจนลืม(ไปหรือเปล่า)ว่าจุดมุ่งหมายของการเรียนแต่ละวิชามีไว้เพื่อสิ่งใด หรือวัฒนธรรมคนไทยที่เน้นด้านปริมาณ(ทุกอย่าง) จึงมองผลสัมฤิทธิ์ของการเรียนไปที่"เกรด"เพียงอย่างเดียว และทึกทักเอาว่า ผลการเรียนดีมากก็จะประสบความสำเร็จในชีวิตมาก...ผมคนหนึ่งล่ะขอค้าน...เพราะเพื่อนผมสมัยมัธยมเกรดมันน้อยกว่าผมตั้งเยอะ แต่มันดื้อ! ไปเรียนวิศวะเอกชน เรียนตั้ง 6 - 7 ปี กว่าจะจบ ตอนนี้มันเป็นวิศวกรอยู่ญี่ปุ่นเงินเดือนเป็นแสนรวยจนไม่รู้จะซื้ออะไรเพิ่มดี(มีหมดแล้ว) ผมเป็นครูเงินเดือนหมื่นกว่าประสบความสำเร็จมาก ไม่มีจะกินหนี้สินบานเบอะ กระเป๋าแห้งแดกอุดมการณ์....นั่นคือวัดกันที่ตัวเลข แต่ถ้าวัดกันที่คุณภาพ ผมมีความสุขกับการเป็นครู เงินเดือนจิบจ้อยผมก็ไม่ค่อยได้ใช้ อดบางมื้อเอาเงินไปให้เด็กกินข้าว ซื้อรองเท้า จ่ายค่าเรียน มันรู้สึกสุขใจมากกว่า เพื่อนผมสิ บ่นทุกวันงานเครียด นายกดดัน ฯลฯ ฟังดูแย่...เลิกเถอะครับการมองอะไรเชิงปริมาณเนี่ย มันสรุปผลอนาคตไม่ได้ ปลูกข้าวได้เยอะมากๆก็ไม่แน่เสมอไปว่าจะรวย ขายไม่ออก ไม่ได้คุณภาพ ราคาตก สุดท้ายอาจจะเจ๊งก็ได้ หันมาดูอะไรที่เป็นเชิงคุณภาพกันดีกว่า การเรียนการสอนก็หันไปดูว่าเรียนแล้วได้อะไร เอาไปใช้ได้ไหม? ดีกว่าตอบแบบกำปั้นทุบดินว่าเรียนไปสอบบบบบบ....ย๊ากกกสสสส์...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น