วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

อันดับการศึกษาไทยในอาเซียน






     เราคงเคยได้ยินกันมานักต่อนักแล้วว่า การศึกษาไทยในอาเซียนเราอยู่อันดับรั้งท้ายตามหลังลาว และกัมพูชา(ซะอีก) ซึ่งสร้างความตกใจให้แก่ผู้รับทราบข้อมูลนี้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษาคงอึ้ง ทึ่ง งง ว่ามันเป็นไปได้ยังไง?


     จากข้อมูลที่ว่า หลายคนคงเข้าใจโดยอัตโนมัติว่าคุณภาพทางการศึกษาบ้านเราอ่อนด้อย ประสิทธิภาพของโรงเรียนไม่เอาไหน ครูไม่ได้เรื่อง สู้ลาวก็ไม่ได้..บลาๆๆ... แต่เดี๋ยวก่อนครับ...

     ในความเป็นจริง การประเมินจัดอันดับการศึกษาที่หลายๆคนเอามาใช้ทิ่มแทงครูนั้น ไม่ใช่การเอาผลการสอบของผู้เรียนมาเปรียบเทียบกันด้วยวิธีการตรงๆหรือสูตรซับซ้อนที่ไหน และไม่ใช่การประเมินจากความสามารถทางการเรียนของนักเรียนด้วยซ้ำไป...แล้วอันดับมาจากไหน?..

     อันดับที่ว่านี้ เป็นข้อมูลที่จัดทำโดย WEF หรือ World Economic Forum ซึ่งจัดอันดับทั้งโลก(ที่เป็นสมาชิกเข้าร่วมโครงการประเมิน) โดยข้อมูลมาจากการจัดทำอันดับความสามารถทางการแข่งขันนานาชาติ ซึ่งก็มีการประเมินหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงการศึกษาด้วย โดยแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐาน ปัจจัยการยกระดับประสิทธิภาพ และปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจ

     ทั้งนี้ วิธีได้มาซึ่งข้อมูล WEF จะให้น้ำหนักกับการสำรวจความคิดเห็นและการให้คะแนนของผู้ประกอบการภาคธุรกิจถึง 2 ใน 3 อีก 1 ส่วนจะมาจากข้อมูลทางสถิติขององค์กรต่างๆของสหประชาชาติ ซึ่งจะเห็นว่า ไม่มีการนำข้อสอบมาวัดเทียบกันแต่อย่างใด!

     WEF ประเมินการศึกษาไทย 2 ระดับ คือ ประถม และการศึกษาขั้นสูงอันรวมถึงมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งผลก็คือ ด้านประถม(ซึ่งรวมถึงการสาธารณะสุข) ไทยอยู่ที่ 81 ของโลก และที่ 7 ของอาเซียน
     ด้านการศึกษาขั้นสูง ไทยอยู่ที่ 66 ของโลก และที่ 5 ของอาเซียน


     โปรดอ่านท้ายตาราง...จะเห็นว่าคะแนนมาจากการให้คะแนนของสถานประการในธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของมุมมองและความคาดหวังของผู้ประกอบการที่มีต่อการศึกษาว่า มีความสามารถในการตอบสนองต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพียงใด

     นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่นซึ่งประเมินการศึกษาของแต่ละประเทศด้วยแง่มุมที่ต่างออกไป เช่น IMD ซึ่งแสดงดัชนีด้านต่างรวมถึงด้านการศึกษาที่ดูแล้วละเอียดยิบๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีด้านการพัฒนามนุษย์ ด้านการเรียนรู้ของเพียร์สัน(การเรียนรู้โดยใช้สติปัญญา) ดัชนีTIMMS(ผลการเรียนคณิต วิทย์)  ดัชนีเพิร์ล(ทักษะการอ่าน) แต่ก็ยังคงใช้ข้อมูลจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจต่อคุณภาพทางการศึกษาในการตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ

       ภาษาบ้านๆง่ายๆก็คือ คะแนนนี้มาจากการไปถามผู้ประกอบการว่า การศึกษาของไทยดีหรือไม่? ให้
คะแนนเท่าไหร่?... ซึ่งแน่นอน ผู้บริหารภาคธุรกิจย่อมมองว่า แรงงาน และลูกจ้างของตนนั้นมีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร โดยเฉพาะช่วงรับมาทำงานใหม่ๆ ซึ่งสามารถพิจารณาได้ว่า สิ่งที่เรียนรู้มาจากระบบการศึกษาสามารถนำใช้ปฏิบัติงานได้มากน้อยเพียงใด

     ถ้าไม่นับรวมอคติของผู้บริหารภาคธุรกิจ เราคงต้องยอมรับความจริงกันว่า สิ่งที่เรียนในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้เพียงครึ่งเดียวหรือไม่ถึงครึ่ง  พนักงานใหม่ต้องเข้ารับการอบรม เทรนนิ่ง ศึกษางานเป็นหลายๆเดือนกว่าจะเทิร์นโปร พูดง่ายๆคือ ต้องไปเรียนรู้งานที่ต้องทำกันใหม่

     คำถามคือ เราสอนและเรียนอะไรกันอยู่ ในเมื่อเด็กไทยเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ น้องๆญี่ปุ่น แต่ทำไมเรียนแล้วถึงนำไปใช้ไม่ได้ หรือเราเรียนสอนกันไปแบบวันต่อวัน ให้สอนอะไรก็สอน ให้เรียนอะไรก็เรียน วัดกันที่ว่า สอบได้ที่เท่าไหร่ เกรดอะไร ไม่ได้มองไปถึงอนาคตของความรู้ที่จะนำไปใช้ หรือไม่ก็ลืมไปแล้วว่าเราเรียนวิชานี่เพื่ออะไร

     สิ่งที่ท่านๆอ่านแล้วจะได้รู้เสียที คือ อันดับการศึกษาของไทยร่วงหล่นอยู่รั้งท้าย คงมิใช่เพราะทำข้อสอบได้คะแนนน้อย แล้วก็เอาข้อมูลมาทิ่มแทงครูว่าไร้ประสิทธิภาพ ตกอกตกใจกันไปเรื่อย ลามปามไปถึงการวัดผลทางการศึกษาระดับชาติ ที่เร่งเอาเป็นเอาตาย มุ่งจะเพิ่มคะแนนสอบให้สูงขึ้นทุกปีๆจนต้องเอามาโยนบาปใช้ประเมินความดีความชอบให้ครู        แต่เป็นเพราะภาคธุรกิจไม่มีความมั่นใจต่อระบบการศึกษา คือ เรียนแล้วทำงานไม่ได้จริงว่าอย่างนั้น  แล้วบุคลากรทางการศึกษาจะพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างไร ก็ตามแต่จะเห็นกัน 
     แค่ไม่อยากให้เข้าใจว่าเด็กไทยไร้สมอง ทำข้อสอบสู้เพื่อนบ้านไม่ได้....ก็เท่านั้น....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น