วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

วงโยฯขอทาน !!!???

     กระแสรุนแรงเรื่องวงโยฯสว.2 ไปขอยืมเงินคุณตันกลายเป็นเรื่องโด่งดังไปทั่วทุกที่...ครั้งแรกที่ผมเห็นเรื่องนี้คือ Facebook ซึ่งศิษย์เก่าท่านหนึ่งแชร์มาให้พร้อมคำถามว่า "ไหงทำงี้" ผมเปิดดูก็เห็นว่า มันคือคลิปที่(ใครสักคน)บรรยายเกี่ยวกับการได้รับเชิญไปแข่งที่ต่างประเทศแต่งบยังไม่มา...

     จะไม่โพสก็เห็นว่าใครก็รู้กันหมด ทั้งคนในคนนอกวงการ คนไม่ได้เกี่ยวข้องกันการศึกษายังพูดกันเลย ผมเลยเกิดความรู้สึกเหมือนอยู่ตรงกลางยังไงก็ไม่รู้...เอาเป็นว่า นี่เป็นความเห็นส่วนตัวของผมก็แล้วกัน ใครไม่คิดอย่างผมก็อย่าใสใจละกันครับ

     สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่แปลกเลยสำหรับผม  นี่คือมาตรฐานของวงจรนี้ด้วยซ้ำไป  วงโยฯบ้านเราก็มีแต่เด็กระดับมัธยมเล่นกัน แล้วก็ชอบได้รับเชิญไปแข่งต่างประเทศ  โรงเรียนก็ชอบอนุมัติ  หน่วยงานกลางก็ชอบเห็นด้วย  แต่คลังมักไม่ชอบจ่ายเงิน!!!

     แล้วจะทำยังไง....ผมขออนุญาต "แฉ"เลยละกันว่า ทุกโรงเรียนที่ไปแข่งต่างประเทศ ก็ระดมทุนกันทั้งนั้น จะด้วยวิธีใดเท่านั้นเอง และงบก็ว่ากันเป็นสิบล้านทุกที  เด็กๆเองก็ต้องเดือดร้อนออกตังค์ ผมเคยไปมีทีนึง เด็กออกต้งค์คนละ 4 หมื่น มีบางคนไม่มีตังค์ ครูก็เลยต้องเก็บเกินจริงเอาไปถัวกับคนที่ไม่มีตังค์

     อย่าว่าแต่ไปต่างประเทศเลย แค่แข่งในประเทศยังขอกันตลอด มีทุกรูปแบบตั้งแต่ขอสนันสนุนจากห้างร้าน ผู้ปกครอง ทอดผ้าป่า หรือ แม้แต่ให้นักเรียนเดินเรี่ยไร...ผมเห็นเด็กเดินขอบริจาคแล้ว ขอบอกว่าน้องๆบางคน เกินค่าตัวจริงๆ ยกมือไหว้ท่วมหัว...พ่อแม่มาเห็นคงน้ำตาไหล

     เนี่ย...คือวงจร....วงจร....(เรียกวงจรอุบาทว์ดีไหม?)....วงจรที่ผู้ใหญ่นี่แหละสร้างขึ้น  เหตุเพราะค่าใช้จ่ายกิจกรรมนี้มีสูง แต่โรงเรียนไม่มีเงินจ่าย  แถมมีค่านิยมเรื่องชื่อเสียงมาสนับสนุนอีก

    ผู้ใหญ่ที่ผมจะขอกล่าวถึง คือ ผู้ใหญ่ทางระบบ ไม่ระบุตัวนะครับ...อย่างแรกคือ รัฐ...เรื่องภาษีเครื่องดนตรี ที่ถือว่าเครื่องดนตรีเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีสูงปรี๊ด จนราคาวงโยฯวงหนึ่งๆว่ากันเป็นหลักสิบล้าน ไม่เคยคิดจะสร้างระบบยกเว้นภาษีให้โรงเรียน แม้แต่โรงเรียนรัฐบาลซื้อเองก็ตาม เครื่องดนตรีรุ่นเดียวกัน บ้านเราขายห้าหมื่น ประเทศต้นทางขายหมื่นเดียว  ซื้อเครื่องดนตรีวงนึง สิบล้าน เป็นต้นทุน 2.5ล้าน ภาษีซะ 5 ล้าน  เจ๊กบวกไปอีก 30-40 เปอร์เซนต์...นั่นแหละราคา...ลองคิดกันดูขำๆนะครับ ถ้านโยบายรัฐสนับสนุนจริงๆ ก่อนจะหาเงินมาทุ่มให้เป็นสิบ ยี่สิบล้าน การยกเว้นภาษีจะทำให้ราคาจะลดลงไม่น้อยกว่าครึ่ง...ที่ตลกคือ โรงเรียนรัฐก็ใช้งบรัฐซื้อ ซึ่งก็มาจากภาษี....ขำๆ โง่ๆ ก็คือเก็บภาษีเจ็กขายเครื่องดนตรีมาซื้อเครื่องดนตรีเข้าโรงเรียน...แล้วจะคิดภาษีเพื่อ!!!.....???

       ผู้ใหญ่ที่สองคือผู้บริหารโรงเรียน คนไม่ทำก็ไม่เอาเลยยย  คนจะทำก็บ้าสุดขีด นานๆจะเจอคนที่มองภาพกว้างรวมๆได้ซักคน อย่างอดีต ผอ.โรงเรียนนี้(เนี่ยแหละ)ท่านหนึ่ง อยากให้โรงเรียนมีดนตรี อยากเห็นเด็กซ้อมมีความสุข แถมบล็อคไว้ด้วยว่า "ไม่แข่งนะ" แต่ก็มีแย้มๆว่า ถ้าพร้อมจริงๆค่อยว่ากัน ส่วนเรื่องงบท่านก็บอกว่า ค่อยเป็นค่อยไป มีเงินก็ซื้อ ให้ครูวางแผนยาวๆ....แต่ทว่า ส่วนใหญ่ไม่เป็นแบบนี้ เจอคนบ้าเข้าไป ทุ่มซื้อเครื่องดนตรีเยอะแยะ จ้างครูระดับเทพเจ้ามาสอน ดูดเด็กที่อื่นมาเล่น ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ ซึ่งโรงเรียนหรือตัวของผู้บริหารหรือครูอาจได้ประโยชน์จากตรงนี้ แล้วเด็กล่ะ ได้อะไร? ให้ซ้อมๆๆๆๆแข่งๆๆๆๆ   ชนะ!...แต่ไม่ได้เรียนหนังสือ... อยากจะบอกว่า บางครั้งสิ่งที่ผู้ใหญ่ระดับนี้ทำ มันเหมือนคลื่นสึนามิที่มีผลกระทบระยะยาวไปอีกหลายปี...โรงเรียนเปลี่ยนไป เด็กเปลี่ยนไป  วัฒนธรรมเปลี่ยนไป...ท่านได้สร้างอะไรบางอย่างไว้ ซึ่งบางอย่างเด็กไม่น่าจะมี เช่น การทำทุกอย่างเพื่อตนเองและพรรคพวก เช่น การไปดูดคนอื่นมาจากโรงเรียนอื่น เพื่อเสริมสร้างตัวเอง ปล่อยให้วงเดิมของเขาพินาศพนาสูญไป มันเป็นคุณลักษณะจิตใจคับแคบที่ไม่ควรปลูกฝังให้เด็กมิใช่หรือ...

     ผู้ใหญ่ที่สามคือ ผู้จัดแข่ง ผมขอไม่เอ่ยไปถึงผู้จัดในต่างประเทศนะครับ เพราะเขาไม่รู้วัฒนธรรมของเราแต่ประการใด  ผมเคยเสนอในที่ประชุมประกวดว่า กติกาข้อหนึ่งที่ควรกำหนดไว้ คือ ต้องไม่ใช้เวลาเรียนในการซ้อมอย่างยาวนาน เช่น ไม่เรียนเป็นเทอมๆ เป็นต้น ผลคือ แทบโดนถีบออกจากห้องประชุม  เดี๋ยวนี้การประกวดวงโยในบ้านเรามีหลายสนาม ห้วงเวลาก็ไม่ค่อยจะดี เช่น ช่วงเดือนมกราคม เป็นเดือนสอบกลางภาค มีหลายวงเด็กไม่ได้สอบ หลายวงเด็กไปสอบแบบกามั่ว เพราะเข้าค่ายซ้อมยาวตั้งแต่ตุลาคม นอนโรงเรียน เปิดเทอมมาก็ว่าไม่ทัน ต้องงดเรียนซ้อมๆๆๆๆๆ รู้ตัวอีกทีเด็กไม่ได้เรียนมา 2 - 3 เดือนแล้ว 

   ผู้ใหญ่ที่สี่ คนเนี้ย โดนหนัก...ก่อนจะโดน ขอเข้าข้างก่อนครับ การประกวดวงดนตรีเนี่ย ไม่ได้ประกวดแบบวิ่งแข่ง ไม่มีที่หนึ่ง ไม่มีที่โหล่ แต่เป็นการแข่งแบบสอบในโรงเรียนนั่นแหละ เกิน 80 ก็ได้เหรียญทองทุกวงนั่นแหละ แต่บ้านเรา ชอบเหลือเกิน การเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่ากัน แม้กรรมการจะไม่บอก มันก็เที่ยวไปขุดคุ้ยหา หาไม่ได้ก็เดากันไปเดากันมา แล้วก็ชอบเดาเข้าข้างตัวเอง....ที่จะบอกคือ น้องๆเขาไปแข่งกะใคร คำตอบคือแข่งกับตัวเองครับ มีโอกาสได้เหรียญทองแดงหรือตกรอบเหมือนกัน  ฝรั่งเขาไม่เหมือนคนไทยนะ มีร้อยวง ตกรอบทั้งร้อยวงก็ได้ ไม่มีกันที่ 1 2 3 ไว้หรอก ... เรื่องเชิญเนี่ย ฝรั่งเขาถือนะครับ สิทธิ์ส่วนบุคคล เราไม่อยากไปเขาไม่เชิญหรอก ทุกปีเป็นเช่นนี้ อาจมีบ้างที่คณะกรรมการประกวดคุ้นเคยกับโรงเรียนหรือครู ก็เอ่ยปากหรือส่งจดหมายมาบอกว่า เฮ้! เราจะจัดประกวดละนะ ยูจะเข้าประกวดไหม? บางรายการก็ส่งไปตามรายการประกวดในประเทศ ก็เป็นสิ่งถูกต้องที่จะต้องให้โควต้าแชมป์หรือวงที่มีผลงานดีไปแข่ง แบบเดียวกับประกวดนางงามนั่นแหละ  แต่ถามว่าแชมป์ต้องไปไหม?...ไม่ต้องก็ได้ครับ....ไม่แชมป์ไปได้ไหม?....ได้ครับ  ไม่เคยประกวดยังไปได้เลย มีเงินไปหรือเปล่าเท่านั้นแหละ

     ทีนี้ ครูคุมวงเองนั่นแหละ ที่จะบอกเด็ก หรือ ปลูกฝังเด็กอย่างไร...ผมเข้าใจว่าทุกคนไม่ได้ดีทุกด้านรวมทั้งตัวผมเองด้วย แต่ผมอยากบอกว่า ครูเป็นอย่างไรเด็กก็เป็นอย่างนั้น สิ่งที่ผมวิงวอนเพื่อนๆ น้องๆ (พี่ๆบอกไม่ได้) ที่สอนวงดนตรีโรงเรียนทุกคนมาเสมอ และอยากนำเสนอถึงครูวงโยทุกท่าน คือ
1. เด็กไม่ใช่หนูทดลอง
2. พ่อ-แม่ เขาส่งลูกเขามาเรียนหนังสือ
3. มีไม่มากที่อยากให้ลูกเป็นนักดนตรี
4. ความต้องการของตลาดดนตรีมีน้อยมาก
5. ดนตรีมีไว้เล่นกับเพื่อน ไม่ใช่ศัตรู
ดังนั้น อย่าสั่งสอนอะไรที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าดีต่อตัวเด็กจริงๆ อย่าให้เด็กออกมาจากห้องเรียน อย่ายัดเยียดความเป็นนักดนตรีให้กับเด็กถ้าเขาไม่ต้องการจริงๆ เพราะมันจะจบมาแบบไม่มีงานทำ  ที่สำคัญผมจะสอนน้องๆและลูกศิษย์เสมอว่า ชัยชนะจากการประกวดไม่ได้พิสูจน์อะไรเรา เพียงแค่เราซ้อมให้เล่นได้อย่างที่ต้องการ นั่นก็คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใดทั้งมวล เพราะมันคือการเอาชนะใจตนเองได้ขั้นหนึ่ง แล้วถ้าอยากเก่งจริงๆเราต้องมีเพื่อนมากๆ แล้วเราจะสามารถพัฒนาได้หลายรูปแบบกว่าการอยู่ในกะลา ....(จริงๆแล้วเทศนาเรื่องนีได้ทั้งวัน)

     ชื่อเสียงเป็นสิ่งที่คนเราต้องมี ความฝันเป็นสิ่งที่เราต้องตามหา เด็กเขาก็มีความฝันของเขา......... อย่าใช้เด็กเป็นเครื่องมือเลยนะครับ .... เราได้สองขั้นหนึ่งที แต่เราทำลายเด็กทั้งชีวิตหรือเปล่า?

     กิจกรรมของโรงเรียนเป็นสิ่งที่ควรมีเป็นอย่างยิ่ง แต่เราไม่ควรสุดโต่ง  จริงแล้วการวิเคราะห์ผลดี-เสียระบบการศึกษาบ้านเรามีตัวช่วยอย่างดีเลย คือการศึกษาของญี่ปุ่น เราใช้ระบบเดียวกันเปี๊ยบ แต่เขาทำอะไรจริงจัง แปบเดียวเห็นผลละ ดูบอลโลกประไร จะว่าไปเขานำหน้าให้เราดูแล้วว่าอะไรดีไม่ดี ...โรงเรียนญี่ปุ่นเน้นกิจกรรมมาก เด็กทำกิจกรรมกันเอาเป็นเอาตาย ซ้อมเช้าซ้อมบ่าย แต่เวลาเรียนก็จริงจังเหมือนกัน...คนไทยที่ไปครูอยู่ที่นั่นให้ความเห็นกับสื่อว่า ญี่ปุ่นควรลดกิจกรรมลงบ้าง ไทยควรมีกิจกรรมให้เด็กมากกว่านี้...นั่นเพราะกิจกรรมของเด็กนักเรียนญี่ปุ่นมากจากเด็กไม่มีเวลาทำอย่างอื่น คือเรียนแล้วก็ซ้อม มันสร้างคนได้แต่มันก็อาจจะมากไปหน่อย เสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุดเลย  แต่ของไทยก็น้อยไป เน้นไปที่ห้องเรียนจนเด็กทำอะไรไม่เป็น(ดูให้รู้ โรงเรียนมัธยม)

     ....พ่อ-แม่เขาไว้ใจเขาถึงเอาลูกมาฝากไว้กับเรา หวังว่าเราจะสั่งสอนให้ลูกเป็นคนเก่งเป็นคนดี เขาอยากให้ลูกทำอะไรได้มากกว่าหนึ่ง ไม่ใช่แค่ท่องตำราอย่างเดียว  เรา รูงโ ก็ช่วยสนับสนุนให้เด็กของเรามีมากกว่าหนึ่งอย่างที่เขาคาดหวัง อย่าฉุดลากให้เขาต้องละทิ้งหน้าที่หลักของเขาเลย  ชาติยังต้องการอนาคตของเขาในการสร้างชาติอีกเยอะ ดนตรีทำได้แค่บำบัดจิตใจ เต็มที่ก็แค่สงเสริมการพัฒนา EQ  มันให้เด็กไปดาวอังคารไม่ได้หรอก...แค่ซื้อข้าวกินยังลำบากเลย!

   



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น